คนไทยนิยมทำบุญสร้างกุศล ปล่อยนกปล่อยปลา แต่รู้ไหมว่าการปล่อยปลา หากปล่อยผิดที่ผิดทาง จากสร้างบุญ อาจกลายเป็นทำบาปโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น ก่อนจะทำการปล่อยปลาใด ๆ ควรศึกษาข้อมูลเสียก่อน ปลาชนิดใดควรปล่อยน้ำลักษณะแบบไหน ปล่อยปลาอย่างไรไม่ทำลายระบบนิเวศน์ และปลาน้อยทั้งหลายก็สามารถกลับไปมีชีวิตแหวกว่ายในน้ำได้อย่างเสรี ไม่กลายเป็นอาหารสัตว์อื่น หรือเอาตัวไม่รอด เพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวยกับวิถีการดำรงชีวิต บางคนปล่อยปลาลงไปไม่นาน ปลาโดนฮุบจากเจ้าถิ่นต่อหน้าต่อตา หรือนำกบไปปล่อยแม่น้ำลึก กบจมน้ำตาย เมื่อจะสร้างบุญต้องให้ได้บุญ แต่ทำอย่างไรไม่ให้ทำบุญแต่ได้บาป ไปดูกันเลยค่ะ
ปล่อยปลา คำนึงถึงอะไรบ้าง
- เลือกปลาที่แข็งแรง ปลอดโรค เพราะอาจไปแพร่เชื้อโรคแก่ปลาแหล่งธรรมชาติ
- คัดเลือกสถานที่ปล่อยควรเหมาะสมกับชนิดของปลา
- ไม่ปล่อยในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจไปรบกวนระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำนั้น
- ไม่ปล่อยสัตว์ต่างถิ่น หรือ เอเลียนสปีชีส์
- เลือกปล่อยในช่วงเช้า หรือ ช่วงเย็น อากาศไม่ร้อนจัด เพราะอุณหภูมิน้ำท่ามกลางแดดจัด อาจทำให้ปลาน็อคเนื่องจากปรับตัวไม่ทัน
- ปล่อยในแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำเพื่อเป็นอาหาร ที่ซ่อนหลบภัย หรือ เพาะพันธุ์
- เลือกแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการไหลเวียน สะอาด น้ำต้องไม่สีดำ หรือเขียวเข้มจัด
- ไม่ควรปล่อยในแหล่งน้ำเชี่ยวเกินไป
ชนิดปลาที่ควรเลือกนำไปปล่อย
สำหรับการปล่อยปลาให้เหมาะกับแหล่งธรรมชาติในประเทศไทย ควรเลือกปลาพื้นเมืองของไทย เช่น ปลาโพง ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลากหมอไทย ปลายี่สกไทย ปลาบึก ปลาสร้อยขาว ปลาแก้มช้ำ ปลากราย เป็นต้น
ชนิดปลาและสัตว์น้ำที่ไม่ควรนำไปปล่อย
ชนิดสัตว์น้ำเหล่านี้ไม่ควรปล่อยเด็ดขาด เพราะเป็นเอเลี่ยน สปีชีย์ คือ เป็นสัตว์ต่างถิ่น อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำได้ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาดุกอัฟริกัน ปลาดุกบิ๊กอุย ปลากดเกราะดำ ปลากดเกราะลาย ปลานิล ปลาทับทิม ปลาหมอสีคางดำ กุ้งเครย์ฟิซ ตะพาบไต้หวัน เต่าญี่ปุ่น (เต่าแก้มแดง)
ชนิดปลาและสัตว์น้ำที่นิยมนำไปปล่อย & สถานที่เหมาะสมในการปล่อย
ปลาดุกอุย ปลาช่อน ปลาหมอไทย : ปล่อยในลำคลอง หนอง บึง ที่น้ำสะอาด กระแสน้ำไหลไม่แรง มีกอหญ้าอยู่ตามตลิ่งบ้างให้พอได้หลบซ่อนตัวตามนิสัยของปลา
ปลาไหล : ปล่อยในห้วย หนอง คลอง บึง ท้องนา หรือ ร่องสวน บริเวณที่มีดินโคลน เพราะปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัย และ กระแสน้ำไม่แรง
ปลาตะเพียน ปลาบึก ปลาสวาย : ปล่อยลงคลอง หรือแม่น้ำที่มีความลึก กระแสน้ำไหลเวียน เพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงต้องการพื้นที่กว้าง
กบ : แหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ คือ บริเวณที่ชื้นแฉะ เช่น นา คลองตื้น ๆ หรือบริเวณที่มีกอหญ้า หรือไม้น้ำ เพราะกบใช้เป็นที่อยู่อาศัย และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่าแมลงหลากชนิด ซี่งเป็นอาหารชั้นดีของกบ
หากต้องการสร้างกุศลครั้งต่อไป คงรู้แล้วใช่ไหมคะ ปล่อยสัตว์อย่างไรไม่ให้ได้บาปแทนบุญ