ประหยัดเงินและสนุกกับการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวคุณเอง

Written by 8:19 am Culture, Fashion, Featured, Lifestyle, Staff's Picks

สักดีไหมนะ ข้อควรรู้ก่อนสัก ก่อนตัดสินใจ 

การสักลวดลายต่าง ๆ บนเรือนร่าง นับว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่แสนจะฮอตฮิตในต่างประเทศ และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังไม่ได้กำหนดให้หมึกที่ใช้ในการสักลายเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติ และยังไม่มีหน่วยงานของรัฐรับรองความปลอดภัยจากการใช้เครื่องมือและสีที่ใช้สักอย่างเป็นทางการ จึงได้มีข้อกำหนดให้ร้านที่บริการสักลายเป็นกิจการที่ต้องมีการควบคุมเพื่อความปลอดภัย

การสักได้รับความนิยมในด้านแฟชั่นเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับใครที่กำลังคิดจะสัก อาจต้องพิจารณาก่อนจะตัดสินใจ เพราะรอยสักจะอยู่บนผิวหนังเราไปตลอดชีวิต โดยควรคำนึงถึงความปลอดภัย รวมไปถึงผลกระทบต่อการประกอบอาชีพบางอย่าง เช่น งานราชการ หรืองานที่ต้องใช้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ เป็นต้น เพราะถึงแม้ว่าจะมีบริการลบรอยสักด้วยเลเซอร์ แต่ผิวหนังที่ถูกรบกวนด้วยการสักมาแล้วจะไม่เหมือนเดิมได้ 100% อีกทั้งค่าลบรอยสักก็นับว่าสูงไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เราจึงมีข้อคิดก่อนสัก เผื่อใครที่อยากสักแต่ลังเลว่าจะสักดีไหม เพื่อจะได้รู้ก่อนสักและการดูแลหลังสักมาฝากค่ะ 

สิ่งที่ต้องดูเมื่อตัดสินใจเข้าร้านสักลาย 

หากตัดสินใจที่จะสัก ควรเลือกใช้บริการจากร้านที่น่าเชื่อถือได้ในเรื่องของความสะอาดถูกสุขอนามัย ช่างสักต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและมีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริง ช่างต้องเปลี่ยนถุงมือใหม่ทุกครั้งก่อนจะสักให้ลูกค้าในแต่ละราย อุปกรณ์การสัก เช่น เข็มสัก หมึกสี ถาดรอง สำลี น้ำยาต่าง ๆ ต้องสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อโรคก่อนใช้เสมอ  

สักอันตรายไหม 

การสักลวดลายต่าง ๆ ก็นับว่าเป็นการเพิ่มเสน่ห์และสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของรอยสักได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงอันตรายจากการสัก ดังนี้ 

มีอาการแพ้ 

การสักลายอาจทำให้แพ้หมึกสักได้ โดยเฉพาะหมึกสีแดง เขียว น้ำเงิน ที่มักจะมีการแพ้กันมาก ทำให้ผิวหนังระคายเคือง มีอาการแพ้ นูน บวม แดง แสบ หรือผื่นคันรอบ ๆ บริเวณรอยสัก เนื่องจากใช้หมึกที่ไม่มีคุณภาพ โดยจะเกิดขึ้นหลังการสักทันที หรืออาจเกิดหลังจากสักมาแล้วเป็นปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับรายบุคคลไป และมักจะใช้เสตียรอยด์รักษาอาการแพ้จากการสัก แต่บางรายใช้วิธีนั้นไม่ได้ผลก็จะมีอาการรุนแรงจนอาจต้องกรีดหรือผ่าตัดผิวหนังส่วนนั้นออกไป และยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย เพราะเราไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติของผิวหนังได้ และถ้าใครที่มีเซลล์มะเร็งอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว เมื่อถูกกระตุ้นจากการสักอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังในที่สุด 

ติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส 

การใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด ไม่ว่าจะเป็นเข็มสัก หมึก และอุปกรณ์เครื่องสักต่าง ๆ ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือเข้าใช้บริการร้านสักลายที่ไม่มีมาตรฐาน เสี่ยงต่อการติดเชื้อหลังการสักได้ง่าย ทั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี ติดเชื้อในกระแสเลือด ได้รับเชื้อ HIV และอาจป่วยจากการติดเชื้อStaphylococcus (เชื้อแบคทีเรียสตาฟีโลค็อกคัส) โดยผู้ที่ติดเชื้อนี้จะมีตุ่มฝีหนองขึ้นตามผิวหนัง อาจเพียงบางบริเวณของร่างกายหรือทั่วทั้งตัวก็ได้ 

เกิดคีลอยด์ 

คีลอยด์ คือ รอยแผลเป็นนูนที่อาจขยายขนาด ทำให้เจ็บปวด คัน แสบ และระคายเคือง โดยคีลอยด์เกิดจากกระบวนการซ่อมแซมรอยแผลจากการได้รับบาดเจ็บหลังการสัก มีแนวโน้มที่จะเกิดแผลตกสะเก็ด และอาจมีการอักเสบแบบแกรนูโลมา (Granulomas) ได้ เพราะการใช้เข็มแทงลงผิวหนังหลาย ๆ ครั้ง ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบโดยมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ รอบรอยสัก ก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังและอาจปรากฏให้เห็นหลังจากผ่านการสักไปแล้วระยะหนึ่ง 

มีอาการแทรกซ้อนจากการตรวจ MRI 

การสักอาจมีผลให้เกิดรอยบวม หรือมีอาการเจ็บแสบขณะที่เข้ารับการตรวจ MRI  และเมื่อต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ รอยสักขนาดใหญ่อาจรบกวนความคมชัดของการถ่ายภาพอวัยวะต่าง ๆ ทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดพลาดได้ 

ดูแลหลังการสักอย่างไรให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ 

สำหรับใครที่ทำการสักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรมีวิธีดูแลรอยสักเพื่อรักษาความคงทนของลวดลาย และเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการสัก โดยทำได้ดังต่อไปนี้ 

  • ใช้ปิโตเลียมเจลลี่ทาลงบริเวณรอยสัก และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือใช้ผ้าพันปิดแผลไว้ 
  • ลอกพลาสเตอร์ออกหลังจากปิดแผลแล้ว 24 ชั่วโมง 
  • ล้างแผลด้วยสบู่เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรีย จากนั้นซับให้แห้ง 
  • ทาขี้ผึ้งที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียบริเวณรอยสักวันละ 2 ครั้ง โดยไม่ต้องปิดพลาสเตอร์ 
  • หมั่นล้างแผลด้วยสบู่อย่างสม่ำเสมอ และทาขี้ผึ้งเพื่อรักษาความชุ่มชื้น โดยทำต่อเนื่องนาน 2-4 สัปดาห์ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลและรอบ ๆ บริเวณรอยสัก 
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่อาจเสียดสีบริเวณที่สัก
  • หลีกเลี่ยงการออกแดด และการอาบน้ำอุ่น 
  • งดว่ายน้ำประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันหมึกซีดจางและเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ 
  • งดแคะ แกะ เกา และลอกสะเก็ดแผลบริเวณรอยสักเด็ดขาด 
  • หากผิวหนังรอบ ๆ รอยสักมีความผิดปกติ เช่น มีผื่นคัน รอยแดง บวมนูน รีบไปพบแพทย์ทันที 
(Visited 21 times, 1 visits today)
Close