ประหยัดเงินและสนุกกับการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวคุณเอง

Written by 9:22 am Featured, Home & Garden, Lifestyle, Trending

4 วิธี ลดขยะอาหารอย่างไร ช่วยลดโลกร้อน

Food waste หรือ ขยะอาหาร คือ หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญ เพราะขยะเศษอาหารสร้างก๊าซมีเทน ที่มีคุณสมบัติกักเก็บความร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า และยังเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกมากกว่าอุตสาหกรรมการบินถึง 4 เท่า 

กรมควบคุมมลพิษได้มีรายงานว่าในปี 2560 ประเทศไทยมีขยะจากเศษอาหารมากถึง 64% ของปริมาณขยะทั้งหมด และแทบไม่มีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ต่อ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีการแยกขยะ ทั้งจากต้นทางที่เป็นผู้บริโภคในครัวเรือนและในส่วนของเทศบาลเอง ทำให้สามารถรีไซเคิลขยะอาหารได้เพียง 2% เท่านั้น ในขณะที่เหลืออีก 98 % ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 

โดยเฉลี่ยในประเทศไทยปีหนึ่ง ๆ มีการทิ้งขยะอาหารเกือบ 10 ล้านตัน หรือถ้าเทียบเฉลี่ยก็ตกคนละ 145 กิโลกรัม ซึ่งปัญหาจากขยะอาหารส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่าที่คิด เนื่องจากเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนในโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เพราะการนำขยะอาหารไปเทฝังกลบทับถมกันนั้น จะเกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์วัตถุตามธรรมชาติ และจะปล่อยก๊าซต่าง ๆ ออกมา โดยเฉพาะ “ก๊าซมีเทน” ซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบของก๊าซเรือนกระจก ตัวการสำคัญที่ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน 

ยิ่งปลายทางมีขยะอาหารมากองรวมเยอะกันเท่าไร ยิ่งส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเราทุกคน หากแก้ปัญหาขยะเศษอาหารออกไปได้หมดตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทนจากบ่อขยะลงไปได้หลายร้อยตัน และยังช่วยให้สามารถจัดการขยะอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น ขยะรีไซเคิล 

วันนี้เราจะมาชวนทุกคนร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งช่วยกู้โลกจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วย  วิธีที่เรานำมาฝากต่อไปนี้ ช่วยกอบกู้อาหารไม่ให้กลายเป็นขยะเหลือทิ้ง และช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโลกได้อย่างยั่งยืนอีกด้วยค่ะ 

1. แยกขยะ

เชื่อว่ายังมีอีกหลายบ้านที่ยังเคยชินกับการทิ้งขยะทุกอย่างลงในถุงเดียวกัน แต่ถ้ายอมเสียเวลาสักหน่อย แยกขยะตามแต่ละประเภท ช่วยลดปริมาณขยะ ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน และยังช่วยลดมลพิษจากอาหารเหลือ และตอนนี้เริ่มมีถังแยกขยะส่วนกลางจากรัฐบาลที่นำบริการจัดวางไว้ให้หลายพื้นที่มากขึ้น แถมยังมีถังขยะอาหารแยกไว้ให้อีกต่างหาก ดังนั้นเราสามารถแยกขยะออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่  

  • ขยะทั่วไป คือ ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ไม่เป็นพิษ และไม่เป็นสารอันตราย เช่น ฟอยล์ ซองบะหมี่ ห่อขนม ถุงพลาสติกบางชนิด
  • ขยะรีไซเคิล คือ ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก อะลูมิเนียม เศษโลหะ กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องลัง กล่องนม UHT ยางรถยนต์
  • ขยะอันตราย คือ ขยะที่มีสารปนเปื้อน หรือสารเคมีอันตราย เช่น สารพิษ วัตถุไวไฟ กระป๋องสเปรย์ วัตถุติดเชื้อ วัตถุปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่มือถือ ยาหมดอายุ
  • ขยะอินทรีย์ คือ ขยะจากเศษอาหารที่สามารถเน่าเสีย และมีการย่อยสลายในเวลาไม่นาน โดยสามารถส่งต่อให้ทางเทศบาล เพื่อใช้ประโยชน์ของเศษอาหารทำเป็นปุ๋ยหมักในโครงการของรัฐบาลได้ หรือจะแยกไว้ทำปุ๋ยด้วยตนเองก็ได้เช่นกัน 

2. เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นอาหาร

เศษอาหารบางอย่างยังมีคุณค่า สามารถนำไปเป็นอาหารต่อได้ 

  • นำไปปลูกใหม่ เศษผักบางชนิดสามารถนำไปปลูกไว้กินต่อได้ จากการใช้ส่วนที่เหลือจากการรับประทาน เช่น กระเทียม หัวหอม ผักกาดหอม สะระแหน่ โหระพา ตะไคร้ มันฝรั่ง ขิง และผักอื่น ๆ อีกหลายชนิด ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักชนิดนั้น ๆ ในครั้งต่อไป ได้ผักสดใหม่ และปลอดสารพิษ 
  • นำไปเลี้ยงสัตว์ เศษอาหารที่ยังสามารถกินได้ เพียงแต่แยกประเภทอาหารให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด เช่น เศษเนื้อสัตว์ไม่ติดกระดูกนำไปให้แมวหรือสุนัข เศษผักผลไม้นำไปเลี้ยงเป็ดและไก่ เศษข้าวและอาหารให้สุกร และเศษอาหารเล็ก ๆ นำไปให้ปลาได้ตอดกิน 

3. ใช้ประโยชน์ของเศษอาหาร

  • นำไปแปรรูปใช้ประโยชน์อื่น ๆ เศษอาหารบางชนิดสามารถนำไปแปรรูปและใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้ เช่น เปลือกไข่ล้างสะอาดนำไปบดละเอียดผสมดินปลูกต้นไม้ หรือ กากกาแฟ นำไปสครับผิว ใช้โรยต้นไม้ หรือใช้ดับกลิ่นเหม็นอับตามบริเวณต่าง ๆ ภายในบ้าน และน้ำมันที่ผ่านการปรุงอาหารแล้ว สามารถส่งต่อเพื่อให้ทำไบโอดีเซล เป็นต้น
  • เปลี่ยนขยะอินทรีย์หรือเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย โดยแยกน้ำออกจากกากอาหารเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำแกง น้ำซุป หรือน้ำจากผักและผลไม้ ควรหั่นเศษอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำไปผสมดิน เพื่อให้ย่อยสลายเร็วขึ้น ใช้ปุ๋ยคอกแห้ง เศษใบไม้ กิ่งไม้ และกากกาแฟ เพื่อช่วยดูดความชื้น และเติมน้ำตาลหรือกากน้ำตาลลงไปเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ เป็นการเร่งให้วัตถุอินทรีย์ต่าง ๆ ย่อยสลายเร็วขึ้น หมักทิ้งไว้ในถังประมาณ 15 – 30 วัน หรืออาจนานมากกว่านั้น ก็จะได้ปุ๋ยไว้บำรุงต้นไม้ หรือจะทำเป็นน้ำหมักไว้รดน้ำบำรุงต้นไม้ก็ได้เช่นกัน โดยใช้เศษผักหรือเปลือกผลไม้ ผสมกับกากน้ำตาลและน้ำเปล่า แล้วหมักทิ้งไว้ ก็จะได้น้ำหมักที่นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อแล้ว

4. ใช้เครื่องย่อยเศษอาหาร

สำหรับใครที่คิดว่าการทำปุ๋ยหมักแบบวิธีเดิม ๆ มันไม่ใช่แนวทาง ไม่สะดวก รู้สึกยุ่งยาก ไม่อยากเสียเวลารอนาน หรือไม่มีพื้นที่ในการฝังกลบลงดิน เครื่องย่อยเศษอาหารไฟฟ้าถือว่าช่วยตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะใช้เวลาเพียง 24 – 48 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับรุ่นและแบรนด์สินค้า) ก็จะได้ปุ๋ยออร์แกนิกพร้อมใช้ ช่วยแก้ปัญหาขยะเศษอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดกลิ่นเหม็นเน่าจากขยะเปียก จบปัญหามด หนู แมลงกวนใจ ลดค่าใช้จ่าย เพราะใช้ถุงขยะน้อยลง มีหลายขนาดให้เลือก ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง จนถึงขนาดใหญ่สำหรับกิจการเชิงพาณิชย์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม โดยราคาเครื่องย่อยเศษอาหารก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับรุ่นและแบรนด์สินค้า ซึ่งมีจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อ หาซื้อได้ทั่วไปในเมืองไทย มีการนำเข้าแบรนด์คุณภาพดีให้เลือก อย่าง Hass เครื่องกำจัดขยะให้กลายเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมง นับว่าเป็นตัวช่วยที่เหมาะกับวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันสุด ๆ ไปเลย ได้ปุ๋ยคุณภาพดีและฟรี แถมยังได้ลดขยะอาหาร ลดโลกร้อน แต่รักษ์โลกมากขึ้น 

(Visited 294 times, 1 visits today)
Close