ประหยัดเงินและสนุกกับการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวคุณเอง

Written by 8:30 am Uncategorized

อะมีบากินสมอง ภัยร้ายที่แอบแฝงมากับน้ำ 

ข่าวที่พบชาวฟลอริดาเสียชีวิตจากการติดเชื้ออะมีบากินสมอง หลังจากล้างโพรงจมูกด้วยน้ำก๊อก อีกทั้งชาวเกาหลีใต้เสียชีวิตจากเชืออะมีบากินสมองเช่นกัน หลังจากเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ทำให้หลายคนเกิดหวั่นวิตกว่าจะโรคระบาดใหม่อาละวาดอีกแล้วหรือ หลังจากที่สถานการณ์โควิดเพิ่งจะหย่อนความรุนแรงลงไม่นาน ดังนั้น เพื่อไม่เป็นการประมาท เรามาทำความรู้จัก โรคอะมีบาเกิดจากอะไร อะมีบากินอะไรเป็นอาหาร แล้วเจ้าเชื้ออะมีบาอาศัยอยู่ที่ไหน หากได้รับเชื้ออะมีบาอาการอันตรายมากน้อยแค่ไหน เพื่อไว้ป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดจากโรคอะมีบากินสมองกันค่ะ 

ภาพจาก : wikimedia

โรคอะมีบาคืออะไร 

อะมีบา หรือ เชื้ออะมีบา คือ สัตว์เซลล์เดียวประเภทโปรโตซัว (Protozoa) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มีขนาดใหญ่กว่าแบคทีเรีย และกินแบคทีเรียเป็นอาหาร อะมีบามีการสืบพันธ์ุแบบไม่อาศัยเพศ โดยการแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง อาศัยตามแหล่งธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งน้ำจึด ดิน หรือโคลนเลน 

อะมีบาที่ก่อให้เกิดโรคในคนมีกี่ชนิด 

อะมีบามีหลายชนิดด้วยกัน แต่ชนิดของอะมีบาที่ก่อให้เกิดโรคในคน เป็นอะมีบาที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระ (free living) อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด โดยเฉพาะบริเวณน้ำนิ่ง หรือมีการไหลเวียนน้อยมาก เช่น น้ำในสระ น้ำในบ่อ เป็นต้น ซึ่งจะมีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 

ภาพจาก : Kateryna Kon/Getty Images/Science Photo Library

1. สายพันธุ์เนกลีเรีย ฟาวเลอรี่ (Naegleria Fowleri) 

สายพันธ์ุ Naegleria Fowleri คือ อะมีบากินสมองชนิดหายาก เข้าสู่ร่างกายทางโพรงจมูก โดยการรับเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการสำลักน้ำ เมื่อว่ายน้ำหรือดำนำในแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ ในเขตร้อน หรือในประเทศเขตหนาวช่วงหน้าร้อน ที่มักจะมีเชื้ออะมีบาชนิดนี้อาศัยอยู่ ทำให้ Naegleria Fowleri เข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางจมูก และขึ้นไปยังสมองโดยผ่านระบบทางเส้นประสาท (olfactory nerve) จากนั้นจะเริ่มทำลายเนื้อเยื่อสมองลงเรื่อย ๆ (อะมีบากินสมอง) และจะก่อให้เกิดโรคติดเชื้ออะมีบาในสมอง อย่าง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือ PAM (Primary Amoebic Meningoencephalitis)  

แหล่งที่อยู่อาศัย : Naegleria Fowleri เจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่จะพบได้ในเขตร้อน หรือเขตอบอุ่นทั่วโลก ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และเอเชีย แต่จะไม่พบในทะเลหรือน้ำกร่อย โดยมีการพบเชื้ออะมีบาชนิดนี้ครั้งแรกใน พ.ศ.2508 แต่มีรายงานว่าพบในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2526 

การติดเชื้อ : การได้รับเชื้อสายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่ เข้าสู่ร่างกายมักเกิดจากการสำลักน้ำ หรือหายใจเอาฝุ่นที่มีเชื้อเข้าไป โดยมักจะติดเชื้อในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุน้อย และมักจะมีประวัติว่ายน้ำ เพราะสาเหตุหลักของการเกิดติดเชื้ออะมีบาชนิดนี้ คือการสำลักน้ำ ไม่ใช่การติดเชื้อจากคนสู่คน 

อาการ : โรคอะมีบากินสมอง อาการจะแสดงให้เห็นหลังจากระยะฟักตัวของโรค 3-7 วัน แต่บางรายอาจนานถึง 14 วัน โดยเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีรู้สึกคัดจมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น จากนั้นจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง เพ้อ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หลังแข็ง ง่วงซึม อาการจะทรุดอย่างรวดเร็ว และมักจะเสียชีวิตภายใน 10 – 14 วัน 

การรักษา :  หากมีการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยการให้ยา Amphotericin B และ Miconazole ผ่านทางเส้นเลือดดำเข้าสู่โพรงสมอง อาจเพิ่มโอกาสที่จะช่วยชีวิตของผู้ป่วยได้ แต่ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในที่สุด 

การป้องกัน : หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือเล่นน้ำในแหล่งน้ำขัง บริเวณน้ำนิ่ง แหล่งน้ำใกล้โรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงบ่อน้ำ หรือสระน้ำที่ไม่มีการถ่ายเปลี่ยนน้ำ หรือไม่มีระบบกรองน้ำ 

ภาพจาก : arcella.nl

2. สายพันธุ์อะแคนทามีบา (Acanthamoeba) 

อะมีบาสายพันธุ์ Acanthamoeba คือ อะมีบาที่จัดเป็นจุลินทรีย์มักจะก่อโรคในผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีโรคเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเชื้ออะมีบาสายพันธ์ุอะแคนทามีบาเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียส พบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป รวมทั้งในทะเล และน้ำกร่อย จึงสามารถพบได้เกือบทั่วโลก และสามารถรับเชื้อได้ง่าย โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ 

แหล่งที่อยู่อาศัย : Acanthamoeba อาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปทั่วมุมโลก พบได้ง่ายกว่าสายพันธ์ุ Naegleria Fowleri เพราะสามารถพบได้แม้แต่ในน้ำกร่อยและทะเล 

การติดเชื้อ : โดยผ่านระบบทางเดินหายใจ บาดแผลที่ผิวหนัง หรือ เยื่อบุตา ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ อย่าง การติดเชื้อที่ไซนัส หรือโรคผิวหนัง และตาอักเสบ ส่วนการติดเชื้อทางสมอง เกิดจากการได้รับเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด 

อาการ : เมื่อได้รับเชื้ออะมีบา อาการอาจเรื้อรังนานกว่า 10 วัน หรืออาจใช้ระยะเวลานานเป็นเดือน เนื่องจากระยะการฟักตัวของอะมีบาชนิดนี้ไม่แน่นอน ส่วนอาการของโรคอาจเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง โดยในระยะแรกจะมีอาการคล้ายหวัด เจ็บคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากรับเชื้อจากช่องเยื่อบุตา อาจทำให้เยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบ หรือตาบอดได้ และเมื่อเชื้อแพร่เข้าสู่กระแสเลือดขึ้นสู่สมองจะทำให้เกิดสมองอักเสบ หรือ GAE (Granulomatous Amoebic Encephalitis) ต่อมาจะมีอาการทางระบบประสาท (Focal Neurological Deficits) โดยมีอาการคล้ายโรคฝีหรือเนื้องอกในสมอง สับสน มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน อ่อนแรงครึ่งซีก พูดลำบาก เดินเซ ไม่รู้สึกตัว ชัก และเสียชีวิตในที่สุด แต่ระยะอาการของโรคจะนานกว่า Naegleria Fowleri โดยอาการโรคดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ระยะอาการนานอาจเป็นสัปดาห์หรือเป้นเดือน  

การรักษา : แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจจากน้ำไขสันหลัง หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหาเชื้อในห้องแลป แต่ถ้าเป็นกรณีที่ติดเชื้อจากเยื่อบุตา จะใช้วิธีตรวจหาแอนติบอดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่สมอง  

การป้องกัน : หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำที่สุ่มเสี่ยง และสำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน จึงควรรักษาความสะอาด ล้างมือทุกครั้งก่อนใส่ – ถอดคอนแทคเลนส์ ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับคอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ขณะว่ายน้ำ และไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์เกินระยะเวลาที่กำหนด   

แม้ว่าอะมีบาไม่ใช่โรคติดต่อ และโอกาสติดเชื้ออาจยังไม่แพร่หลายจนถึงขั้นยกระดับเป็นโรคระบาดใหญ่ แต่หากได้รับเชื่้ออะมีบาแล้ว โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยนั้นมีน้อยมาก ดังนั้น ไม่ประมาทเป็นวิธีที่ดีที่สุด 

(Visited 15 times, 1 visits today)
Close